วัดหาดส้มแป้น Hadsompaen Temple

Last updated: 17 ธ.ค. 2566  |  2410 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วัดหาดส้มแป้น Hadsompaen Temple

        พ่อท่านคล้ายเดิมชื่อ  นายคล้าย ไสสม เกิดปีมะโรง พ.ศ. 2456 วันที่และเดือนไม่ปรากฏ บิดาชื่อนายขวด แม่ชื่อนางวัก เกิดที่ตำบลหน้าสตน อำเภอหัวไทร จังหวัดพระนครศรีธรรมราช มีพี่น้องรวมหกคนท่านเป็นคนสุดท้อง เมื่ออายุ 15 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดหน้าสตน ในวันที่ 10 มิถุนายน 2471 โดยมีพระครูพนัง เป็นอุปัชฌาย์ และเมื่ออายุครบ 20 ปี ได้อุปสมบทที่วัดเดิมและอุปัชฌาย์องค์เดิม พระขาว คุรุสุวรรโณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านจำพรรษาที่วัดนี้มาตลอด จนกระทั่งพระขาวเจ้าอาวาสมรณภาพ ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสเป็นเวลาแปดปี ต่อจากนั้นเดินทางไปจำพรรษาที่วัดแหลมทราย จังหวัดสงขลา เพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากท่านเจ้าคุณเส้ง เจ้าอาวาสวัดแหลมทราย จนจบนักธรรมเอก เมื่อจบแล้วได้เดินทางไปจำพรรษาอยู่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย เป็นเวลา 1 พรรษา ออกพรรษาแล้วเดินทางไปสิงคโปร์ จากสิงคโปร์เดินทางมาจำพรรษาที่จังหวัดภูเก็ตเป็นเวลาหลายพรรษาที่วัดราไวย์และวัดอื่น ๆ จากภูเก็ตเดินทางมาจำพรรษาที่วัดท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเวลา 3 พรรษา

       เนื่องจากท่านเป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดพระวินัยและปฏิบัติกรรมฐานมาตลอด ดังนั้นท่านจึงเดินทางออกจากวัดท่าข้าม ไปธุดงค์อยู่ในป่าเพื่อปฏิบัติธรรมอยู่หลายแห่งเป็นเวลานานถึง 30 ปี ตลอดเวลาที่ท่านธุดงค์จะเดินไปที่ไหนท่านเดินทางด้วยเท้า จะไม่เดินทางด้วยยานพาหนะทุกอย่าง หลังจากเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่นครศรีธรรมราช ก็ออกเดินทางด้วยเท้าเข้ากรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดต่าง ๆ เป็นเวลา 10 วัน ถึงกรุงเทพฯ เข้านมัสการพระแก้วมรกตเดินทางกลับมายังจังหวัดระนองจำพรรษาที่วัดราชกรูดและวัดอื่น ๆ ขณะที่จำพรรษาที่วัดราชกรูดมีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ขณะที่ท่านฉันภัตตาหารมีพระภิกษุรูปหนึ่งไม่พอใจท่านโดยไม่ทราบสาเหตุ ลุกขึ้นใช้ส้อมแทงท่าน ท่านยกมือขึ้นรับปรากฏว่าแทงไม่เข้ามีคนถามท่านว่ามีของดีอะไร ท่านกลับพูดแบบขำขันว่าจะแทงเข้าอย่างไรเมื่อแทงเข้าง่ามมือ

          จากระนองท่านออกธุดงค์ไปนมัสการพระธาตุเมืองร่างกุ้ง ประเทศพม่า ธุดงค์อยู่เป็นเวลา 2 ปี ขณะธุดงค์อยู่ในเมืองพม่า ท่านเดินทางไปพบดงว่านชนิดต่าง ๆ เป็นร้อย ๆ แต่ไม่สามารถนำออกมาได้ เรื่องว่านนี้ท่านเคยเล่าให้ศิษย์ที่ใกล้ชิดฟัง ผู้ที่ท่านเล่าให้ฟังที่ยังมีชีวิตอยู่คือ นายเสถียร อู่เจริญ แพทย์ประจำตำบลหาดส้มแป้น จังหวัดระนอง

          ระหว่างที่ท่านอยู่ในพม่า มีลูกสาวของจางวางของหมู่บ้านป่วยเป็นอหิวาตกโรค ท่านเป็นผู้รอบรู้เรื่องยาสมุนไพรและโรคต่าง ๆ เป็นอย่างดี ท่านรักษาด้วยการเอาน้ำใส่ปากกระบอกปืนเสกด้วยคาถาแล้วเทลงใส่ขันน้ำให้กิน ปรากฏว่าลูกสาวของจางวางหายจากโรคเหมือนปลิดทิ้ง ชาวพม่าเคารพนับถือท่านมาก นิมนต์ให้ท่านอยู่ต่อไปอีก ท่านธุดงค์ออกจากพม่ามาอยู่ที่วัดอุปนันทาราม (วัดด่าน) จังหวัดระนอง

           วัดหาดส้มแป้นเป็นวัดเล็ก ๆ อยู่ในหมู่บ้านที่ทุรกันดารจากตัวเมืองเข้ามายังหมู่บ้านต้องเดินทางด้วยเท้าและบรรทุกของด้วยช้างเท่านั้น แต่เป็นดินแดนที่สงบร่มเย็นด้วยธรรมชาติและทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ชาวบ้านอยู่กันอย่างสงบสุขสามัคคีเป็นเหมือนฉันพี่น้อง บริเวณวัดด้านหน้ามีลำคลองไหลผ่านน้ำใสสะอาดมีปลาพลวงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ด้านหลังมีเนินเขามีต้นไม้นานาชนิดเขียวชอุ่มตลอดปี ท่านจึงคิดจำพรรษาที่วัดนี้ให้นานที่สุด หรือตลอดไป ท่านชอบมากเพราะสงบร่มเย็นด้วยธรรมชาติไม่วุ่นวาย โดยเฉพาะปลาพลวงในลำคลองท่านรักและหวงแหนมาก เด็ก ๆ ไปรังแกท่านจับมาเฆี่ยนทุกราย ส่วนผู้ใหญ่จะไม่มีใครกล้ารงแกปลา ท่านพูดเสมอว่า ปลานี่คือสมบัติอันล้ำค่าของชาวหาดส้มแป้น ซึ่งคำพูดของท่านก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริงเพราะปัจจุบันนี้มีขบวนรถทัวร์มาดูปลาที่วัดทุกวัน และยิ่งไปกว่านั้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2531 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีได้เสด็จมาทอดพระเนตรปลาพลวงที่นี่ และได้เสด็จขึ้นศาลานมัสการรูปหล่อเหมือนของท่านด้วย ทำให้ชาวหาดส้มแป้นทุกคนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าใกล้ชิดทุกคน

            ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหาดส้มแป้นต่อจากพ่อหลวงน้อย ในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสนั้นมีกุฏิเก่าสร้างด้วยไม้ยกพื้นมีบันได ข้างล่างใต้กุฏิจะเต็มไปด้วยยาสมุนไพร เครื่องบดยา หม้อต้มยา ท่านต้องรักษาโรคทุกชนิดทุกวัน เพราะสมัยนั้นการแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่ก้าวหน้าไม่มีสถานีอนามัย คนไข้จะไปหาหมอที่โรงพยาบาลต้องหามไป ไม่มีรถกว่าจะถึงต้องใช้เวลาเป็นวัน ๆ ชาวบ้านเวลาเจ็บไข้ก็ต้องไปหาท่าน ท่านแทบไม่มีเวลาพักผ่อนกลางคืนดึกดื่นท่านจะไปทันทีเมื่อมีคนไข้ ท่านช่วยชีวิตคนไข้ไว้ได้มากมาย ดั่งคำอาลัยที่เขียนไว้ว่า

         ยามเจ็บไข้ได้ป่วยช่วยบำบัด      หยูกยาสารพัดท่านจัดหา

     แม้ดึกดื่นค่อนคืนยามนิทรา           ท่านจะมาเป่าปัดขจัดภัย

              เวลามีคนถวายเงินท่านบอกว่า ท่านไม่มีความจำเป็นมากนัก เพราะสมบัติของท่านมีเพียงไตรจีวรกับบาตรเท่านั้น ท่านจะออกบิณฑบาตทุกวันไม่มีขาด ท่านบอกว่าเป็นหน้าที่ของสงฆ์ เรื่องเงินที่ถวายเพื่อไม่ขัดศรัทธาทานจะรับไว้เพียงเล็กน้อยที่เหลือจะคืนกลับไป ท่านไม่เคยสนใจเรื่องนี้เลย ผู้ที่เก็บรักษาเงินที่ท่านได้รับถวาย คือท่านกำนันบุญจินต์  พิจยานนท์  สถานที่ที่จะสร้างเป็นต้นว่าศาลาธรรมหรือกุฏิ  ท่านบอกว่าเป็นหน้าที่ของชาวบ้านที่จะสร้างวัด จะให้ท่านบอกบุญเรี่ยไรสร้างท่านไม่เอา ทำให้คนมองว่าท่านไม่เป็นพระพัฒนา แต่ท่านให้เหตุผลท่านไม่ชอบเบียดเบียนผู้อื่น ชีวิตท่านมีแต่ให้

             มีเหตุการณ์ที่แสดงความศรัทธาของชาวหาดส้มแป้นที่มีต่อท่าน ท่านจะเดินทางไปเยี่ยมญาติ ชาวบ้านเข้าใจว่าท่านจะไม่กลับมาอีกเดินตามท่านไปเกือบทั้งหมู่บ้านเดินร้องไห้ ไปจนกระทั่งท่าน รับปากว่าท่านจะกลับมาแน่นอน ชาวบ้านจึงยอมกลับ

             ท่านกลับมาจำพรรษาที่นี่ตลอดมา จนกระทั่งท่านป่วยด้วยโรคประสาทหนังตาไม่ทำงาน หนังตาปิดสนิททั้งสองข้างส่วนดวงตายังปกติทำให้ท่านดึงหนังเปิดจึงจะมองเห็น ท่านไปไหนมาไหนไม่สะดวก บรรดาศิษยานุศิษย์และผู้มีจิตศรัทธาต่อท่านพยายามพารักษาที่กรุงเทพฯ และที่มีหมอเชี่ยวชาญแต่อาการไม่กระเตื้องขึ้น ทำให้ท่านตัดสินใจไปจำพรรษาที่วัดสระ กำนันบุญจินต์จึงรวบรวมเงินที่เก็บรักษาไว้ประมาณสี่หมื่นกว่าบาทพร้อมกับให้คนนำท่านไปส่งที่วัดสระตามความต้องการของท่านระยะที่ท่านมารักษาที่วัดสระนี้ ชาวหาดส้มแป้นบรรดาศิษย์และผู้เคารพนับถือท่านมาเยี่ยมท่านแม้ระยะทางจะไกลลำบากก็ไม่ย่อท้อ

             จวบจนกระทั่งวันที่  16  สิงหาคม  2523  ท่านมรณภาพ ท่ามกลางญาติและพี่สาวของท่านชาวหาดส้มแป้นและบรรดาศิษย์ได้รับข่าวด้วยความเศร้าโศกเป็นอย่างยิ่ง มีบรรดาศิษย์และผู้ที่นับถือท่านจำนวนหนึ่งเดินทางไปร่วมงานศพท่าน

             ก่อนท่านจะมรณภาพท่านถามมาว่าวันนี้วันอะไร ขึ้นหรือแรมกี่ค่ำ เมื่อรู้ว่าเป็นอะไร เด็ก ๆ ที่วิ่งเล่นใกล้ ๆ กุฏิที่ท่านอยู่ ท่านใช้ให้ไปวิ่งเล่นที่อื่น ท่านต้องการความสงบ เมื่อมีผู้เข้าไปพบปรากฏว่าท่านมรณภาพแล้ว ในลักษณะท่านนั่งตรงศีรษะแหงนพับไปข้างหลังเล็กน้อย

             หลังจากได้รับอัฐิของท่าน ชาวหาดส้มแป้นโดยการให้ทุนของนางฉุ้นลั่น  จู้ยี่  สร้างรูปหล่อเหมือนของท่านบรรจุอัฐิประดิษฐานไว้ที่ศาลาซึ่งเดิมเป็นที่ท่านจำพรรษาที่วัดนี้ ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันนี้ที่ศาลาพ่อท่านคล้ายจะมีนักทัศนาจรและผู้ที่มาดูปลาพลวงเข้ากราบไหว้บูชารูปเหมือนของท่านทุกวัน และรายได้ที่รับจากตู้บริจาคที่ศาลาทางคณะกรรมการได้จัดตั้ง “กองทุนพ่อท่านคล้าย” ขึ้นมาเพื่อสาธารณประโยชน์ การศึกษา การศาสนา ของตำบลหาดส้มแป้น

            นี่คือประวัติส่วนหนึ่งของท่าน ที่มีแต่ให้ตลอดที่มีชีวิตและแม้ว่าท่านจะมรณภาพไปแล้ว คุณความดียังให้กับพี่น้องชาวตำบลหาดส้มแป้นตลอดไป นั่นคือ “กองทุนพ่อท่านคล้าย”

           เมื่อครั้งที่เกิดพายุเกย์ที่จังหวัดชุมพร คณะกรรมการการเงินพ่อท่านคล้ายได้อนุมัติเงินจำนวน 15,883  บาท  ร่วมกับชาวตำบลหาดส้มแป้นได้ร่วมบริจาคสมทบรวมเป็นเงินทั้งหมด 20,603 บาท นำไปซื้อข้าวสารจำนวน 21 กระสอบ ปลากระป๋อง 500 กระป๋อง เกลือ 12 มัดใหญ่ ไม้ขีด  2  ห่อใหญ่  เทียนไข  4  หีบใหญ่ น้ำดื่ม  240  ขวด  ยาแก้ไข้  แก้ท้องเสีย  ยาลม  ยาหม่อง  จำนวน  1,500  บาท  นำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพายุเกย์ ที่อำเภอปะทิวและมาบอำมฤต และการช่วยเหลือครั้งนี้หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ได้เสนอข่าวพร้อมภาพให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย

ข้อมูลจากเว็บไซด์ : http://www.ranongcities.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้