โบราณสถานวัดปทุมธาราราม

Last updated: 17 ธ.ค. 2566  |  4401 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โบราณสถานวัดปทุมธาราราม

โบราณสถานวัดปทุมธาราราม

     วัดปทุมธาราราม สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2311 สมัยกรุงธนบุรี เป็นวัดในตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "วัดบางปรุ" เรียกตามชื่อคลองบางปรุ ตั้งอยู่บนที่ราบสูง สภาพแวดล้อมเป็นลำคลองและป่าไม้ ภายในวัดประกอบไปด้วยอาคารเสนาสนะที่เก่าแก่ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฎิ และเจดีย์ศิลปะแบบลังกา ลักษณะฐานสี่เหลี่ยมกว้าง 8 เมตร สูงจากพื้นถึงด้านบน 2.50 เมตร องค์เจดีย์ตั้งลอยอยู่บนฐานขนาดความสูงของเจดีย์ประมาณ 7.50 เมตร เป็นรูปทรงระฆัง และมีปล้องไฉนหรือบัวกลุ่มปรียอดและเม็ดน้ำค้าง สร้างโดยช่างชาว อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา สร้างเมื่อ พ.ศ.2476 ซึ่งมีพระครูสงวน เป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้นทั้งนี้ เนื่องจากฐานยกพื้นสูงดังกล่าว ชาวบ้านจึงเรียกว่า "เจดีย์หลวงพ่อรากลอย" เป็นที่บรรจุพระธาตุพระสาวกอยู่ด้านหลังอุโบสถของวัด เป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่ส่วนฐานทำซุ้มจระนำ สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ได้ ภายในวัดมีพระพุทธรูปหินอ่อนประดับอยู่ อุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาซ้อนชั้นอย่างเรียบง่าย ตัวอุโบสถไม่มีลวดลายประดับมากนักนอกจากส่วนฐานที่มีการตกแต่งด้วยลายแข้งสิงห์

     กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 33ง วันที่ 9 เมษายน 2544 เนื้อที่ประมาณ 3 งาน 57.5 ตารางวา

Wat Pathumthararam

     Wat Prathumthararam was established in 1768 during Thonburi period. The former name is Wat Pru. Inside the temple, consists of Chedi Luang Po Rak Loy, which is width 8 metres and base height about 2.50 metres and Chedi height 7.50 metres in size. It was built in 1933 in form of Chedi with high base and tunneled niche. The monastery was constructed from brick and concrete with simply decoration, doublet roof top and low base with "Lion motif leg" stucco.

     Fine Arts Department had proclaimed the registration of monument of Wat Pathumthararam according to Fine Art Department proclamation of the extension boundary of monument in the Government Gazette no.118, special part 33ง on 9th April 2001.


หมายเหตุ: ข้อมูลเพิ่มเติมการขุดค้นพบลูกปัดโบราณในพื้นที่วัดปทุมธาราราม

วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6913 ข่าวสดรายวัน

อนุรักษ์ลูกปัด รักถิ่นกะเปอร์

สดจากเยาวชน 

วิมล หนูแก้ว

     สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ค้นพบแหล่งโบราณคดี ภายในวัดปทุมธารารามหรือวัดวังมัจฉา หมู่ที่ 3 ต.กะเปอร์ อ.กะเปอร์ จ.ระนอง

     ถือเป็นแหล่งลูกปัดโบราณที่ค้นพบในแถบจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน แต่มีปัญหาการลักลอบขุดหาลูกปัดและวัตถุโบราณต่างๆ สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ตได้เข้ามาดูแลก่อนที่ลูกปัดจะหมดไปจากพื้นที่ดังกล่าว โดยร่วมกับโรงเรียนบ้านด่าน อ.กะเปอร์ จ.ระนอง จัดทำโครงการ "รู้จักรักษ์ถิ่นกะเปอร์" เพื่อปลูกจิตสำนึกให้นักเรียน ครู และประชาชน มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีมิให้ถูกทำลายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

     โดยนำนักเรียนชั้น ป.5 จำนวน 40 คน และครู ร่วมกันศึกษาแหล่งโบราณคดีในพื้นที่จริง ซึ่งมีการเปิดหน้าดิน 2 จุด เพื่อขุดเอาดินและก้อนกรวดมาล้างน้ำและร่อน คัดแยกหาลูกปัดที่ความลึกประมาณ 70-130 ซ.ม. วัตถุโบราณที่ได้มีทั้งลูกปัดหลากสี ภาชนะดินเผา ลูกปัดทองคำ อายุประมาณ 2,000 ปี 

     เกี่ยวกับเรื่องนี้ร.อ.บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต เปิดเผยว่า พื้นที่แหล่งลูกปัดโบราณทุกแห่งจะมีปัญหาในการมีผู้ลักลอบขุด พื้นที่แหล่งลูกปัดวัดปทุมธารารามก็เช่นเดียวกัน ซึ่งจากการสำรวจได้เจอหลักฐานที่สำคัญมาก คือมีทั้ง ลูกปัด ทองคำ ลูกปัดหิน ลูกปัดแก้ว ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา เช่น หม้าแบบสามขา ซึ่งปกติจะพบในถ้ำแถบจังหวัดกาญจนบุรี อยู่คู่กับหลุมศพ ไม่เคยพบในพื้นที่ราบอย่างเช่นที่วัดปทุมธารารามมาก่อน

     นอกจากนี้ ยังพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่นำเข้าจากอินเดีย ที่เรียกว่าภาชนะดินเผาแลลรูเลตเทดแวร์ (Rouletted ware) ซึ่งพบในอินเดียและศรีลังกามากกว่า 50 แหล่ง

     การพบภาชนะดังกล่าวที่แหล่งนี้ด้วยแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของชุมชนในแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน กับชุมชนที่อยู่ในประเทศอื่นๆ ทั้งอินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ค้นพบภาชนะนี้เช่นกัน แสดงให้เห็นว่ามีการติดต่อกับชุมชนภายนอก มีการค้าขายกัน จากการศึกษาพบว่ามีอายุประมาณ 2,000 ปี 

     สาเหตุที่สำนักศิลปากรที่ 15 เลือกเข้ามาทำโครงการรู้จักรักษ์ถิ่นกะเปอร์ เพื่อเปิดโอกาส เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามาเรียนรู้ โดยเริ่มต้นที่เด็กนักเรียน เพื่อให้นักเรียนหรือชุมชนเห็นความสำคัญของท้องถิ่น จะได้ร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือศูนย์ข้อมูลทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นพัฒนาเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป

     ร้อยเอกบุณยฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของโครงการลูกปัดคืนถิ่นของโรงเรียนบ้านภูเขาทอง อ.สุขสำราญนั้น ขณะนี้ มีความก้าวหน้าไปมากแล้วเด็กนักเรียนสามารถพัฒนาฝีมือ ในการผลิตลูกปัดได้สวยงามและเนี้ยบมากขึ้น เป็นที่รู้จักในวงกว้างได้รับเชิญให้ไปแสดงสาธิตการทำลูกปัดตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งตนเชื่อมั่นว่างานที่ทำนี้ เป็นการเอางานทางโบราณคดีมาตอบสนองสังคมปัจจุบันให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้ชุมชนที่เป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมมีรายได้จากแหล่งโบราณคดี ซึ่งที่ อ.กะเปอร์ ก็เช่นเดียวกันมีโอกาสที่จะขยายผลเหมือนกับภูเขาทอง แต่ที่สำคัญความร่วมมือที่มาจากท้องถิ่นด้วย จึงฝากความหวังไว้กับ อบต. อบจ. รวมทั้งฝ่ายปกครองประชาชน และทางวัดที่เป็นแหล่งโบราณคดี ต้องช่วยกันผลักดันรวบรวมโบราณวัตถุที่เก็บอยู่กับชาวบ้าน ให้มาจัดแสดงไว้ที่เดียวกัน ให้เห็นความสำคัญขึ้นมาให้เห็นภาพชัดว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีอย่างไร

     ร้อยเอกบุณยฤทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า ผู้ที่ลักลอบขุดโบราณสถาน โบราณวัตถุ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 32 ของพระราชบัญญัติโบราณสถานโบราณวัตถุ 

     ทางด้านนายยงยุทธ ริ่มไทสงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านด่าน กล่าวว่านับเป็นสิ่งที่ดีที่ทางกรมศิลปากรเข้ามาให้ความรู้ในการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดี ซึ่งจะทำให้เยาวชนได้เกิดความตระหนักในคุณค่ามรดกวัฒนธรรม ภาคภูมิใจ รักและหวงแหนวัตถุโบราณ ส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์โดยทางโรงเรียนจะมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นในโรงเรียนเพื่อเป็นศูนย์การศึกษาเรียนรู้ของนักเรียน และชุมชน เนื่องจากโรงเรียนบ้านด่านเป็นโรงเรียนต้นแบบของโรงเรียนในฝัน โดยใช้นักเรียนเป็นตัวกระตุ้นความรู้ที่ได้รับไปสู่ชุมชนให้เห็นถึงความสำคัญของท้องถิ่นซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของตนเองต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้